8 สิ่งประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 10 รางวัล จากเวทีประกวดงานวิจัยนานาชาติ IPITEx 2024

Blog Hits: 72

          นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ (ชยอ.) ทำการแทน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งเสริมการคิดค้น พัฒนา ประดิษฐ์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสนับสนุนภารกิจในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ มุ่งสู่องค์กรนวัตกรรมพลังงาน โดย กฟผ. ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จำนวน 8 ผลงาน เข้าร่วมประกวดในงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition (IPITEx 2024) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจัดขึ้นภายในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2567
ณ Event Hall 100 - 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดย กฟผ. สามารถคว้า 10 รางวัลนวัตกรรม ดังนี้

รางวัล Special Prize on Stage ประเภท “The Outstanding International Invention & Innovation Award” และ รางวัลเหรียญทอง Gold Prize ได้แก่

     - ผลงานเรื่อง Air Purification Tower with Plasma Technique จากฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) เป็นการทำงานของหอฟอกอากาศ ซึ่งใช้เทคนิคการกำเนิดพลาสมาโดยใช้ไฟฟ้าแรงสูง เพื่อสร้างความเครียดสนามไฟฟ้า ทำให้อากาศแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า (Pre-charge) จากนั้นจึงปล่อยประจุไฟฟ้าไปเกาะกับอนุภาคฝุ่น PM2.5 เมื่ออนุภาคฝุ่นที่มีประจุเคลื่อนตัวผ่านห้องดักจับอนุภาคก็จะถูกกักเก็บได้โดยง่าย

รางวัลเหรียญทอง Gold Prize และรางวัลพิเศษ The Outstanding Award จาก Citizen Innovation ประเทศสิงคโปร์ ได้แก่

     - ผลงาน Slide Pump Set จากฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) เนื่องจากการปฏิบัติงานยกระดับสายส่ง และ Clip In เกิดปัญหาในการปฏิบัติงาน Lineman มีอาการบาดเจ็บบริเวณหลังและไหล่ขณะปฏิบัติงาน การวัด ตัด ควั่น สายตัวนำสัญญาณ (Conductor) ทำได้ยากเนื่องจากช่องว่างในการทำงานแคบเกินไป ส่วนต่อเชื่อม (Compression Dead End Sleeve) คดงอ ส่งผลให้ค่าแรงดึง (Tension) ไม่ได้ตามที่คำนวณไว้ จึงสร้างเครื่องมือที่มารับน้ำหนักหัวลูกรีดเกลียว (Die) และสามารถเลื่อนหัว Die ในขั้นตอนการปั๊มหัวสายไฟฟ้าโดยขยายช่องว่างในการทำงาน ให้สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น เรียกว่า “เครื่องมือชุด Slide Pump”

รางวัลเหรียญทอง Gold Prize ได้แก่

     - ผลงาน Wire Grip Installer & Remover Tool จากฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) ซึ่งในการปฏิบัติงานสายส่งหลาย ๆ งาน จะต้องมีอุปกรณ์รับแรงดึงของสายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อลดแรงดึงให้สายไฟฟ้าไม่มีแรงดึงในสาย เพื่อผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานตัด-ต่อสาย หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนสายไฟฟ้าแรงสูงได้ ซึ่งอุปกรณ์ที่จับสายไฟฟ้าเพื่อรับแรงดึงคือ Wire Grip ในงานยกระดับ ผู้ปฏิบัติงานต้องออกไปติดตั้ง Wire Grip ที่อยู่นอกบันไดออกสาย เป็นระยะ 3 เมตร ด้วยความยากลำบาก และใช้เวลา 7 นาที สำหรับติดตั้ง Wire Grip ทั้ง 2 ตัว โดยต้องปฏิบัติงานทั้ง 2 ด้าน จำนวน 3 เฟส 2 วงจร รวม 12 จุดงาน ทำให้พนักงานบำรุงรักษาสายส่งปวดเมื่อยร่างกาย เพราะต้องใช้พลังงานและกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นอย่างมาก และมีผลทำให้การทำงานล่าช้า ส่งผลให้ต้องใช้เวลาดับกระแสไฟฟ้าเป็นเวลานาน จึงมีการคิดค้นอุปกรณ์ติดตั้ง Wire Grip

   - ผลงาน Decision Support System for Spare Transformer Management จากฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง (อหส.) เนื่องจากมีหม้อแปลงไฟฟ้านอกระบบ 110 เครื่อง ที่ไม่มีการบ่งชี้ว่าเครื่องใดยังมีความจำเป็น หรือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้เกิดต้นทุนบำรุงรักษา ต้นทุนการจัดเก็บและขนย้ายที่มากเกินไป เป็นภาระงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่เกิดประโยชน์ ทั้งยังทำให้ กฟผ. สูญเสียกำไร ไม่มีศูนย์รวมข้อมูลของหม้อแปลงนอกระบบ เพื่อให้หน่วยงานฝ่ายปฏิบัติการต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนงาน จัดลำดับความสำคัญ หรือตัดสินใจในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกัน

     - ผลงาน The Quality Checking Method of the Splicing Joint for Coal Conveyor Belts จากฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ (อผม.) ผลงานนี้ถูกคิดค้นเพื่อตอบคำถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่ารอยเชื่อมสายพานที่ทำการบำรุงรักษาได้คุณภาพตามต้องการ และเพื่อให้สามารถทดสอบได้ทันทีโดยเฉพาะแรงยึดเกาะระหว่างส่วนโลหะ (Steel Cord) และส่วนยาง Rubber ซึ่งถือเป็นอีกตัวแปรที่ส่งผลของความแข็งแรงของสายพาน จึงสร้างชิ้นงานขึ้นมาเพื่อนำไปทดสอบความแข็งแรงและคุณภาพรอยต่อของสายพานขนส่งถ่านหิน โดยชิ้นงานที่ได้จะอยู่ในขั้นตอนกระบวนการเดียวกันกับรอยต่อสายพานทุกอย่าง

      - ผลงาน EGAT Point on Wave Switching Adaptive Control 2023 จากฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง (อหส.) เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมมุมในการสับ Power Circuit Breaker (PCB) ให้อยู่ในตำแหน่งแรงดันไฟฟ้าที่เหมาะสม มีวัตถุประสงค์หลักในการลดสัญญาณการเปลี่ยนแปลงค่าทางไฟฟ้าแบบกระทันหัน (Transient) ทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้นกับระบบและกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ข้างเคียง

     - ผลงาน Variable Speed Small Hydropower Plant (Prototype) 100 kW จากฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน (อพพ.) เป็นการออกแบบและพัฒนากังหันน้ำแบบความเร็วรอบไม่คงที่และคอนเวอร์เตอร์ (Back to Back Converter) เพื่อเพิ่มขอบเขตการเดินเครื่องและประสิทธิภาพ รวมถึงชุดควบคุมสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซิงโครนัสชนิดแม่เหล็กถาวร มาใช้ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีขนาดแรงดันและความถี่ไม่คงที่ ให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าและจ่ายไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าหลัก

รางวัลเหรียญเงิน Silver Prize ได้แก่

     - ผลงาน Real-time High Voltage Substation Intrusion Detection System with AI CiRA CORE จากฝ่ายปฏิบัติการเทคโนโลยีดิจิทัล (อปท.) และฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) เป็นการนำ AI มาใช้เพื่อเป็นสมองในการประมวลผลภาพ (Image Processing) จากภาพที่รับมาจากระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อนำไปสู่การเชื่อมต่อกับระบบกลไกในการขับไล่สิ่งรุกล้ำออกจากบริเวณวิกฤตภายในสถานีไฟฟ้า

          ทั้งนี้งาน Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition (IPITEx) เป็นเวทีนานาชาติที่จัดขึ้น เพื่อจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีศักยภาพและน่าสนใจของนักประดิษฐ์ นวัตกรระดับนานาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ในวันนักประดิษฐ์ เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

Source : EGAT Today