การกำกับดูแลกิจการที่ดี

จำนวนผู้เข้าชม

3854661
Today
Yesterday
This Week
This Month
Last Month
148
429
148
2815
11104

การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

          นโยบายการบริการข้อมูลข่าวสาร "กฟผ. มุ่งมั่นให้การบริการข้อมูลข่าวสารของ กฟผ. แก่ผู้ขอรับบริการด้วยความเสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง"

          การให้ข้อมูลข่าวสารทั้งทางการเงินและมิใช่ทางการเงิน ให้ดำเนินการตามขอบเขตวิธีการดำเนินงาน ข้อมูลที่เปิดเผยต้องครบถ้วน เพียงพอ ตรงต่อความเป็นจริง เชื่อถือได้ ทันเวลาและเท่าเทียมกัน คณะกรรมการบริหารข้อมูลข่าวสารของ กฟผ. มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร มีการจัดระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อจัดประเภทข้อมูลข่าวสาร วิธีการดำเนินการในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การขอข้อมูลข่าวสารและการอนุญาต

          ฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ. มีหน้าที่สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของ กฟผ. และการแถลงข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับ กฟผ. เป็นอำนาจหน้าที่ของโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ให้เปิดเผยทาง website (www.egat.co.th และ www.egat.com) เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน

 

การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interest)
          การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หมายถึง การที่บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือมีตำแหน่งหน้าที่ มีผลประโยชน์ส่วนตัวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือพวกพ้อง จนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ขององค์การหรือส่วนรวม ทำให้บุคคลนั้นขาดการตัดสินใจที่เที่ยงธรรม กระทำความผิดต่อหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ เนื่องจากยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ไม่ว่าการกระทำนั้นจะโดยเจตนา ไม่เจตนา ประมาทเลินเล่อ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หรือมีการทุจริตต่อหน้าที่ก็ตาม
          กล่าวคือ การที่บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือมีตำแหน่งหน้าที่ตัดสินใจหรือปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองหรือพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย บางเรื่องเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปโดยไม่เห็นว่าเป็นความผิด ตัวอย่างมีพบเห็นได้มากในสังคม เช่น การรับสินบน การจ่ายเงินใต้โต๊ะ การจ่ายเงินตอบแทนเพื่อให้ตนเองได้เลื่อนตำแหน่ง ส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความเป็นธรรมในการตัดสินใจ เนื่องจากการยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ผลเสียจึงเกิดขึ้นกับองค์การ และประเทศชาติ เป็นการกระทำผิดทั้งทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ
          การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย หมายถึง การกำหนดระเบี่ยบหรือนโยบายต่างๆ โดยบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งดูเหมือนว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วนโยบายเหล่านั้นเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ส่งผลให้เกิดการผูกขาด และทำให้องค์การหรือส่วนรวมไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ "กรณีที่บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจบารมีของตนเองออกคำสั่งหรือนโยบาย เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเป็นในแง่ของทรัพย์สินเงินทอง หรืออาจรวมถึงประโยชน์อื่นที่นอกเหนือไปกว่าทรัพย์สินเงินทอง ทำให้การตัดสินใจในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นกลางหรือยุติธรรม"

          ทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึง ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อ ว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

รูปแบบของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

  1. การดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือคู่แข่งขันกับองค์การ
  2. บุคคล ในครอบครัวเป็นผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร หรือเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือคู่แข่งขันกับองค์การ
  3. การใช้ข้อมูลองค์การเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน
  4. การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่โดยธรรมจรรยา หรืออันควรได้ตามกฎหมาย

แนวปฏิบัติการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หมวด 6 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

มาตรา 126 นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้

(1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี

(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

(3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด 

(4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้กำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราขการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น

ให้นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วยโดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหนักงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง

คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

เจ้าพนักงานของรัฐที่มีลักษณะตาม (2) หรือ (3) ต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง

มาตรา 127 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 128 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 129 การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

bn ministry of Finance

 

bn nacc

 

bn sepo

 

bn opdc

bn ministry of energy

bn moralcenter

กฟผ. ใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของเว็บไซต์ และ กฟผ. จะใช้คุกกี้ทางเลือกเพื่อการวิเคราะห์ พัฒนา และปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อได้รับอนุญาตจากท่าน ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ และนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฟผ. ทั้งนี้ หากท่านกดยอมรับคุกกี้ทั้งหมด จะหมายความว่าท่านยินยอมให้ กฟผ. บันทึกและใช้คุกกี้ทั้งหมดจากอุปกรณ์ที่ท่านใช้ในการเข้าเว็บไซต์ เพื่อทำให้การสำรวจหน้าเว็บและการวิเคราะห์การใช้เว็บไซต์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น