นักประดิษฐ์ กฟผ. เข้ารับมอบใบประกาศเกียรติคุณจาก รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในโอกาสเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเวทีนานาชาติจากไต้หวัน เยอรมนี และเกาหลีใต้ รวม 6 ผลงาน สะท้อนความเป็นองค์การแห่งวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลก
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงาน การวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ภายในงาน Future Thailand โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในพิธีพร้อมกล่าวแสดงความยินดี แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นผู้กล่าวรายงาน ในการนี้ นายสุพัฒนพงศ์ สิกขาบัณฑิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (ช.อวน.) นำทีมนักประประดิษฐ์ กฟผ. พร้อมด้วยนักประประดิษฐ์และนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดต่างประเทศเข้าร่วมงาน ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์และนักวิจัยทุกคนที่ได้รับรางวัล ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งทุกท่านล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามนโยบาย ของรัฐบาล รู้สึกดีใจและปลื้มใจที่ได้เห็นความสำเร็จของบุคลากรที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งสะท้อนศักยภาพคนไทยที่มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งนี้ การพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนทุนการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประกาศยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานที่มีศักยภาพและได้รับรางวัลในระดับต่าง ๆ ทั้งนี้ หวังว่าในอนาคตหน่วยงาน ที่เกี่ยวเนื่องในด้านนี้จะร่วมมือกันเพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญในการมอบเกียรติคุณ เชิดชูเกียรติหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการยกย่องเชิดชูนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้สร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ โดยการสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยเกิดการพัฒนาศักยภาพ กระตุ้นให้มีการผลิตองค์ความรู้ใหม่ ๆ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ รวมทั้งผลักดันผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ รวมทั้งผลักดันให้เกิด การนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
สำหรับผลงานของนักประดิษฐ์ กฟผ. ที่เข้ารับรางวัลมี 6 ผลงาน ดังนี้ 1. ระบบทดสอบอัตโนมัติสำหรับไดเร็คชั่นแนล เซอร์โวคอนโทรลวาล์วหลายขนาด ผลงานของโรงไฟฟ้าวังน้อย (อฟว.) ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และ รางวัลพิเศษ จาก Indonesian Invention and Innovation Promotion Association ในงาน “Taiwan Innotech Expo 2023” (TIE 2023) ระหว่างวันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2566 ณ เมืองไทเป ไต้หวัน โดยมีนายชาญชัย จรัสบุญเสรี ช่างระดับ 8 แผนกบำรุงรักษา อุปกรณ์ควบคุมและเครื่องวัด (หบอน-ฟ.) กองบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า (กบรน-ฟ.) อฟว. เป็นผู้แทนรับรางวัล
2. เครื่องช่วยขี้น - ลงที่สูงสำหรับช่างสาย ผลงานของฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.) ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง และ รางวัลพิเศษ CAI Award จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New products” (iENA 2023) ระหว่างวันที่ 28 - 30 ตุลาคม 2566 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีนายคมกฤษ ศรีสุดา หัวหน้ากองควบคุมระบบ (กคอ-ส.) อปอ. เป็นผู้แทนรับรางวัล
3. อุปกรณ์พิเศษเพื่อรองรับโรเตอร์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สามารถปรับระดับและเคลื่อนย้ายได้ ผลงานของฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในงาน iENA 2023 โดยมี นายวรพงษ์ ชำนาญพานิชย์ วิศวกรระดับ 4 แผนกวิศวกรรมกังหันก๊าซและดีเซล (หวด-ธ.) กองกังหันก๊าซและดีเซล (กกห-ธ.) อบค. เป็นผู้แทนรับรางวัล
4. การพยากรณ์รอบการบำรุงรักษาระบบ Thrust Bearing Oil Cooler ผลงานของเขื่อนวชิราลงกรณ (อขว.) ซึ่งได้รับเหรียญทอง ในงาน “Seoul International Invention Fair 2023” (SIIF 2023) ระหว่างวันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมี นายเมธะพนธ์ สิทธิพันธ์ วิศวกรระดับ 7 แผนกวางแผนและประสิทธิภาพ (หวปว-ฟ.) กองบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า (กบว-ฟ.) อขว. เป็นผู้แทนรับรางวัล
5. โปรแกรมตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัย ผลงานของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (อฟน.) ซึ่งได้รับเหรียญทอง ในงาน SIIF 2023 โดยมี นายเอกพจน์ แจ่มกระจ่าง หัวหน้าแผนกเดินเครื่องกะ 2/1 (หดฟน2/1-ฟ.) กองเดินเครื่อง (กดฟน-ฟ.) อฟน. เป็นผู้แทนรับรางวัล
6. ระบบควบคุมความถี่ไฟฟ้าด้วย EGAT Automatic Load Control (EGAT-ALC) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแบบ Off-grid ผลงานของฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และเขื่อนรัชชประภา (อขช.) ซึ่งได้รับเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ จาก Taiwan Invention Association (TIA) ไต้หวันในงาน SIIF 2023 โดยมี นายวรวิทย์ ชินกิจรัตนวานิช วิศวกรระดับ 7 แผนกระบบควบคุมเครื่องจักรไฟฟ้า (หรคฟ-ธ.) กองบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและมอเตอร์ (กบกม-ธ.) อบฟ. เป็นผู้แทนรับรางวัล