ข่าวประชาสัมพันธ์

กฟผ. จัดสัมมนาถ่ายทอดทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรม 2568 ปักหมุดมุ่งพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า พร้อมขับเคลื่อนร่วมกับนักวิจัยทั่วประเทศ

          เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. ปี 2568 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ประธานคณะกรรมการเทคโนโลยีดิจิทัล การจัดการความรู้และนวัตกรรม กฟผ. (DTKMIM) ดร.ธิรินทร์ ณ ถลาง คณะกรรมการ DTKMIM น.ส.พนา สุภาวกุล รองผู้ว่าการบริหาร (รวห.) พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัยทั่วประเทศ ตลอดจนคณะผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ หอประชุม Auditorium ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. และได้เปิดให้ผู้สนใจสามารถรับชมผ่านระบบถ่ายทอดสดออนไลน์ทาง EGAT Live

          นายธวัชชัย สำราญวานิช รวย. กล่าวว่า กฟผ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มุ่งมั่นสร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้มีความเพียงพอ ทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ทำให้พลังงานหมุนเวียนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กฟผ. จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” มุ่งพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้สามารถรองรับกับแนวโน้มพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่อง Grid Modernization การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) และ Pumped Storage Hydro (PSH) การพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Hydro Floating Solar การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพลังงานอย่างเทคโนโลยี Hydrogen ตลอดจนนวัตกรรมการกักเก็บคาร์บอนพร้อมการใช้ประโยชน์ (CCUS) เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้า ลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน ด้วยเหตุนี้ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน นับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม ดังนั้น กฟผ. จึงพร้อมที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมทั้งยินดีที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการต่อยอดขยายองค์ความรู้ไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          งานสัมมนาทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านงานวิจัยนวัตกรรม และทิศทางการสนับสนุนทุนวิจัยของ กฟผ. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยที่สนใจการศึกษาพัฒนาในด้านดังกล่าว ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการบรรยายในหัวข้อ “ภาพอนาคตเทคโนโลยีและนวัตกรรม กฟผ.” โดย นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ (ชยน.) และการบรรยายหัวข้อ “ภาพรวมทิศทางงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กฟผ.” โดย นายยุทธพง ตันเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กฟผ. โดยมีนักวิจัยผู้รับทุนวิจัย กฟผ. ร่วมในการเสวนาอีกด้วย

ที่มา : EGAT Today

กฟผ. โชว์ใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในภารกิจดูแลความมั่นคงไฟฟ้า ในงาน Thailand Drone Exhibition and Symposium 2

          เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายสุเทพ สิงหฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง (อหส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน ร่วมพิธีเปิดงานแสดงเทคโนโลยีและสัมมนา Thailand Drone Exhibition and Symposium 2024 ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้แนวคิด “Drone It Right” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) รวมถึงกฎหมาย กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง มาตรฐานความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บังคับ และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้อง Plenary Hall 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

           สำหรับภายในงานดังกล่าว มีการจัดแสดงเทคโนโลยีอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินจากทั่วโลก การสาธิตและแสดงการบินอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินด้วยนวัตกรรมล่าสุด การสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในหลากหลายอุตสาหกรรม จากผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน โดยในส่วนของ กฟผ. ได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อแสดงการประยุกต์ใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในภารกิจสำคัญต่าง ๆ ของ กฟผ. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย เช่น การใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในงานตรวจวัดคุณภาพน้ำและเก็บตัวอย่าง (Water Solution Drones) ของโรงไฟฟ้าวังน้อย (อฟว.) และฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) การใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในงานสำรวจภูมิประเทศ เพื่อจัดทำแบบจำลองสนับสนุนงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง ของ กฟผ. และวิเคราะห์สภาพพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่าง ๆ ของฝ่ายสำรวจ (อสร.) การใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในงานขึงสายก่อสร้างระบบส่ง ซึ่งเป็นสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของฝ่ายก่อสร้างระบบส่ง (อกส.) นอกจากนี้ยังใช้ตรวจสอบกังหันลมผลิตไฟฟ้า ตรวจสอบความผิดปกติของแผงโซลาร์เซลล์ ตรวจหาการแตกร้าวของเขื่อนและอาคารประกอบ งานบำรุงรักษาสายส่ง และงานผลิตแผนที่ข้อมูลการบริหารสินทรัพย์และป้องกันการบุกรุก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ กฟผ. ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป

ที่มา : EGAT Today

4 นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสุดล้ำ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ในงาน Powerex Asia 2024

01 01

          ภายใต้พันธกิจการดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ พวกเราชาวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงกระบวนการทำงาน สะท้อนถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความเป็นผู้นำในการดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยในงาน Powerex Asia 2024 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 16-18 ตุลาคม ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมแสดงศักยภาพด้านการพัฒนานวัตกรรม โชว์ 4 สุดยอดผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์การให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านภารกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

บล็อกขี้เถ้า สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุพลอยได้

          ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง มีไอเดียนำมาซึ่งวัตถุพลอยได้ ทั้งเถ้าลอย เถ้าหนัก และยิปซัม นอกจาก กฟผ. จะจำหน่ายวัตถุพลอยได้เหล่านี้ให้กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ยังคงมีส่วนที่เหลือต้องกำจัดกว่า 60% ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อฟม.) จึงได้ดำเนินงานวิจัยนำของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ชื่อ “Unblocked” จัดตั้งโรงงานผลิตบล็อกก่อสร้างจากกากอุตสาหกรรมเถ้าหนัก ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 40,000 ก้อนต่อวัน นวัตกรรมนี้ช่วยลดต้นทุนการกำจัดกากอุตสาหกรรมจากเดิม 60 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียง 13 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 70 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี นับเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวที่มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมติดตั้งตัวป้องกันฟ้าผ่าบนเสาส่งแบบไม่ดับไฟ

          แนวสายส่งไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูง (สฟ.) แม่เมาะ 3 ไปยัง สฟ.เชียงใหม่ 3 ซึ่งมีภารกิจในการส่งจ่ายไฟฟ้ากว่า 400 เมกะวัตต์ เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างจังหวัดเชียงใหม่ แต่ในขณะเดียวกันแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าว มีสถิติการเกิดฟ้าผ่าเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ TLA หรือ Transmission Line Arrester ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันการเกิดแรงดันไฟฟ้าเกินแบบฉับพลัน (Overvoltage) เพื่อลดเหตุขัดข้องเนื่องจากฟ้าผ่า ทีมงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้า จากฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) ได้คิดค้นกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ TLA โดยไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้า ผ่านการพัฒนาอุปกรณ์ Rotation Support เพื่อใช้เป็นจุดหมุนรองรับการติดตั้ง TLA เพื่อเว้นระยะจากสายตัวนำไฟฟ้า (Conductor) ได้อย่างปลอดภัย และใช้ไม้ Hotstick ที่มีความเป็นฉนวน เพื่อติดตั้งเกราะหุ้มสาย (Armor Rod) พันที่สายตัวนำไฟฟ้า สำหรับป้องกันความเสียหายจากการทำงานของ TLA กระบวนการติดตั้งแบบใหม่นี้จะช่วยลดการเกิด Human Error จากวิธีการเดิมที่ต้องดับกระแสไฟฟ้าและปฏิบัติงานในช่วงที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยในช่วงกลางดึก ทำให้ระบบส่งไฟฟ้ามีความมั่นคงเชื่อถือได้อยู่ตลอดเวลา

อุปกรณ์รองรับโรเตอร์ ช่วยประหยัด ซ่อมไว จ่ายไฟรวดเร็ว

          การบำรุงรักษาอุปกรณ์โรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Rotor) แต่เดิมจำเป็นต้องจัดสร้างอุปกรณ์รองรับโรเตอร์ขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะสมกับแต่ละโรงไฟฟ้าที่มีความแตกต่างทั้งด้านความสูงและระยะสำหรับการติดตั้ง ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) จึงได้คิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์รองรับโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สามารถปรับระดับและเคลื่อนย้ายได้” โดยการนำรถเทรลเลอร์ที่ปรับระดับความสูงได้ของฝ่ายขนส่ง พร้อมกับออกแบบโครงสร้างสำหรับรองรับโรเตอร์ เพื่อวางไว้บนรถเทรลเลอร์ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถรองรับงานบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ทุกโรงไฟฟ้า นวัตกรรมนี้ช่วยลดต้นทุนในงานบำรุงรักษากว่า 88% และลดระยะเวลาในการบำรุงรักษาได้ถึง 4 วัน ทำให้พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบดั้งเดิม

หุ่นยนต์อัจฉริยะทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์

          โครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาประจำโรงไฟฟ้า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (อค-บร.) สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ “Smart Floating PV Cleaning Bot” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมกับระบบฉีดน้ำและแปรงขัดทำความสะอาด ถูกออกแบบให้สามารถใช้น้ำจากถังพักน้ำขนาด 10 ลิตร หรือแบบต่อท่อน้ำตรงจากภายนอก สามารถควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชันบน Smart Phone พร้อมมีฟังก์ชันการใช้งานวิ่งไป–กลับแบบอัตโนมัติ โดยใช้ Sensor Detect ตำแหน่งการทำงาน เข้ามาช่วยทดแทนการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์แบบเดิมที่ต้องใช้คนถึง 8-10 คน ลดเหลือเพียง 2 คนเท่านั้น ทำให้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดได้ 50% นอกจากนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่ผู้ปฏิบัติงานอาจพลัดตกน้ำได้อีกด้วย

          การพัฒนากระบวนการทำงานผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ ถือเป็นการวางรากฐานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง กฟผ. จึงมุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมพลังงานใหม่ พร้อมนำมาประยุกต์ใช้ เสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ภารกิจทั้งด้านผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า มีเสถียรภาพและความมั่นคงควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน

 

ที่มา : EGAT Today

3 การไฟฟ้าโชว์สุดยอดนวัตกรรม ประจำปี 2567 (Show and Share Innovation for the Better Life 2024)

   เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 3 การไฟฟ้าจัดงานแสดงผลงานนวัตกรรม (Show and Share Innovation for the Better Life 2024) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้พัฒนาตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยมีนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ร่วมเปิดงานและมีนักประดิษฐ์จากทั้ง 3 การไฟฟ้า พร้อมทั้งหน่วยงานด้านนโยบายและกำกับดูแลกิจการด้านพลังงาน หน่วยงานด้านวิจัยของประเทศ นักธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชนที่สนใจ ร่วมงาน ณ ห้องวายุภักษ์ 2-4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

  ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของทั้ง 3 การไฟฟ้า จำนวน 46 ผลงาน ทั้งงานพัฒนาบำรุงรักษาธุรกิจไฟฟ้า งานด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและธุรกิจใหม่ และงานบริการ นอกจากนี้มีการเสวนายุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมจาก 3 ผู้ว่าการ ในหัวข้อ “นโยบายด้านนวัตกรรมในการขับเคลื่อนองค์กรของ 3 การไฟฟ้าในอนาคต” และการเสวนาโครงการความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้า ในหัวข้อ “การให้บริการพลังงานไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff (UGT)” รวมถึงการบรรยายวิชาการของแต่ละองค์กรอีก 30 ผลงาน

          นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและนำนวัตกรรมมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจและผลักดันการใช้ให้เกิดประโยชน์ภายใต้หลักธรรมาภิบาล มาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ PEA เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดย PEA วางทิศทางยุทธศาสตร์ด้านการจัดการนวัตกรรม ปี 2567–2569 เป็นองค์กรนวัตกรรมด้านดิจิทัลและพลังงานสะอาด (Digital and Green Energy Innovation) ปี 2570–2575 เป็นองค์กรนวัตกรรมด้านระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Innovation) และปี 2576–2580 เป็นองค์กรนวัตกรรมที่เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Innovation Organization) นอกจากนี้ PEA มีแผนงานโครงการรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น AMI Microgrid (แม่สะเรียง เกาะพะลวย เบตง เกาะสมุย) Minigrid (แม่ฮ่องสอน) PEA ติดตั้ง Charging Station มากกว่า 400 สถานี ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BESS) แก้ไขปัญหาคุณภาพไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้ากรณีไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็ว สำหรับงานด้านบริการ PEA มีเว็บไซต์ www.peashopping.com และผลิตภัณฑ์ PUPAPUMP เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ AC ขนาด 7.2 kW ที่จะวางจำหน่ายเดือนมกราคม 2568

          สำหรับผลงานที่ PEA ร่วมแสดงผลงานมีจำนวน 15 ผลงาน อาทิ เครื่องมือจำลองการติดตั้ง Solar PV Rooftop และจำลองการติดตั้งมิเตอร์ TOU ที่สามารถทดลองเลือกขนาดกำลังการติดตั้งเสมือนจริง จำลองบิลค่าไฟฟ้าอัตรา TOU สำหรับลูกค้าที่สนใจขอติดตั้งมิเตอร์เพื่อชาร์จรถยนต์ EV โปรแกรมต้นแบบเพื่อค้นหาพื้นที่ติดตั้งแผง Solar Rooftop จากภาพถ่ายดาวเทียม GIS เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบจำหน่าย เป็นต้น

          นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ “นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ซึ่ง กฟผ. มียุทธศาสตร์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่สอดคล้องกับนโยบายแผนพลังงานชาติที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้หลักการดำเนินงานที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยผลักดันการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทั้งไฮโดรเจนและการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การสนับสนุน EV Ecosystem มีการพัฒนา Application EleXA โดยมีนโยบายจัดการความรู้และนวัตกรรม ส่งมอบประสบการณ์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าแก่บุคลากรในองค์การและพันธมิตร

          สำหรับนวัตกรรมโดดเด่นของ กฟผ. ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีจำนวน 15 ผลงาน อาทิ ผลงานระบบบริหารจัดการพลังงาน (ENZY) ที่สามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงานในพื้นที่แบบเรียลไทม์ ควบคุมสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ และสรุปยอดการใช้พลังงานไฟฟ้ารายเดือนเพื่อใช้ในการวิเคราะห์วางแผนการใช้พลังงาน ช่วยให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสามารถบริหารจัดการพลังงานและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ผลงานการตรวจสายส่งไฟฟ้า 500 kV โดยใช้เทคโนโลยี Ultraviolet (Corona) Inspection ซึ่งเป็นการใช้กล้อง Corona ตรวจสภาพอุปกรณ์เสาส่งไฟฟ้าป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า ช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ รวมถึงผลงาน Lineman Lift โดยใช้สำหรับงานตรวจสอบและงานซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ช่างสาย และช่วยขนย้ายเครื่องมืออุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงในการขึ้นลงที่สูง เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จึงใช้เวลาแก้ไขได้รวดเร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

          ด้าน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ได้ดำเนินนโยบายตามวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ได้วางยุทธศาสตร์การจัดการนวัตกรรม 3 ด้าน คือ 1) การวางโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม 2) การเสริมสร้างวัฒนธรรมและทักษะด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความยั่งยืนขององค์กร โดยผลงานที่ MEA นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการผลิตภัณฑ์จานรองแก้วซึมน้ำจากวัสดุผงเซรามิกแปรสภาพของขยะลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ระบบงานบริการภาคสนาม Field Force Management (FFM) ระบบรับเรื่องขอเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออนไลน์ผ่านโครงการ MyEnergy เครื่องมือประกอบรถกระเช้าเพื่อติดตั้งโคมไฟฟ้าสาธารณะบนเสาไฟฟ้า “Jib-Joint Jib-Boom” อุปกรณ์ป้องกันงูบนเสาไฟฟ้า นวัตกรรมเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงแบบมีการเสริมแรง นวัตกรรมคอนเหล็กเคลือบฉนวนพีอี เทคโนโลยีแจ้งเตือนไฟดับ นวัตกรรม Rack ในงานพาดสายไฟฟ้าแรงต่ำ อุปกรณ์ตรวจจับการปล่อยประจุบางส่วนในสวิตช์เกียร์ฉนวนก๊าซ “UHF Sensor” ระบบจ่ายไฟกลับอัตโนมัติ “Smart Energy” เทคนิคอุดกันซึมสำหรับท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน “อุดสนิท พิชิตน้ำไหล” เทคนิคลดเวลาการซ่อมแซมสายไฟฟ้าใต้ดินชำรุด “Intersection Method” และนวัตกรรมตรวจสอบเสาเอียง

          3 การไฟฟ้ามุ่งส่งเสริมงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ให้การผลิต จัดหา และส่งจ่ายไฟฟ้าของประเทศมีคุณภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน

ที่มา : EGAT Today

กฟผ. โชว์ 4 นวัตกรรมเด่นในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 พร้อมคว้ารางวัลชมเชยจากผลงาน Lineman Lift

          เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและศักยภาพต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์วงกว้าง

         จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงาน เสร็จแล้วพระราชทานพระวโรกาสฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานในระบบวิจัย รวมทั้งผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลและเกียรติบัตร ซึ่งนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.)เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมรับเสด็จฯ ณ ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แล้วจึงเสด็จฯ ไปยังห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ทรงวางพระหัตถ์บนแท่นอะคริลิกเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024)

ผลงานนวัตกรรมที่ กฟผ. นำมาร่วมจัดแสดงภายในปีนี้มีจำนวน 4 ผลงาน ได้แก่

          1) การศึกษาการใช้ Slag Deposition Sensor ทดแทน Heat Flux Sensor ของ MM-T14 เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาเซ็นเซอร์และระบบซอฟต์แวร์ เพื่อระบุตำแหน่งการสะสมตัวของตะกรันบริเวณผนังหม้อไอน้ำ (Boiler Wall Tube) และควบคุมการฉีดน้ำล้างตะกรันแบบอัตโนมัติให้แม่นยำมากขึ้น โดยไม่กระทบกับพารามิเตอร์การเผาไหม้ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อรม.) และฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อฟม.)

          2) Lineman Lift เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดเวลาและแรงในการปีนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง สำหรับงานบำรุงรักษาที่ต้องมีการปีนขึ้น-ลงที่สูงหลายรอบ ซึ่งสามารถยกคนหรืออุปกรณ์ขึ้นเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับ 70 เมตรได้ภายใน 3 นาที ควบคุมได้ด้วยรีโมตระยะไกล เป็นผลงานของฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.)

          3) การพัฒนากระบวนการตัดสาย Conductor เพื่อแขวนลูกถ้วย Break loop 230kV 4 bundle โดยไม่นำสาย Conductor ลงพื้น เป็นการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่อลดระยะเวลาการทำงาน ด้วยการใช้กระเช้าประดิษฐ์ช่วยในการทำงานหลายจุดพร้อมกัน โดยไม่ต้องปลดสายส่งไฟฟ้าลงพื้นดิน ช่วยลดระยะเวลาการดับไฟฟ้า เป็นผลงานของฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)

          4) หุ่นยนต์จัดยา เป็นการพัฒนาหุ่นยนต์จัดยาต้นแบบของไทยในรูปแบบ Modular System ที่สามารถปรับฟังก์ชันได้ตามความต้องการใช้งานสำหรับสถานพยาบาล ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการจัดและจ่ายยา ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างฝ่ายแพทย์และอนามัย (อพอ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

          

         นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ส่งผลงาน Lineman Lift ของ อปอ. เข้าร่วมประกวดในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo Award 2024) และคว้ารางวัลชมเชย และเงินรางวัล 20,000 บาท โดยมีนายทวีศักดิ์ ศิริสืบ หัวหน้ากองวิจัยและนวัตกรรมธุรกิจใหม่ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) เป็นผู้แทน กฟผ. รับมอบรางวัลและเกียรติบัตรจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.

กฟผ. จัดพิธีมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ยกย่องผลงานนวัตกรรมดีเด่นและส่งเสริมการทำความดี

          เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมพนักงาน กฟผ. ครั้งที่ 6/2567 กฟผ. ร่วมกับมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” จัดพิธีมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ประจำปี 2565 โดยมีนายวีระวัฒน์ ชลายน ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และอดีตผู้ว่าการ กฟผ. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการ กฟผ. ได้แก่ นายไกรสีห์ กรรณสูต นายสมบัติ ศานติจารี นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ รวมทั้งอดีตผู้บริหาร ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ร่วมพิธี ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช ชั้น 9 อาคาร ต.040 สำนักงานใหญ่ กฟผ.

          คณะกรรมการมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่สมควรได้รับรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” จากการรวบรวมผลงานที่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี 2562-2565 โดยมีผลงานที่ผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 13 รางวัล จำแนกเป็นรางวัลเกียรติยศผลงานทางวิชาการ 11 รางวัล และรางวัลผู้กระทำความดี ระดับดีเยี่ยม 2 รางวัล

          สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลเกียรติยศผลงานทางวิชาการ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ มีจำนวน 11 ผลงาน ได้แก่

1. นวัตกรรมเรือกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดสู่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของชุมชน โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดเขื่อนภูมิพล (อขภ.)

2. หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษสายส่ง โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)

3. ระบบวิเคราะห์ไฟฟ้าตามเวลาจริง (Real Time Dynamic Security Assessment System) โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน (อรค.)

4. อาร์มชั่วคราว เพื่องานยกระดับความสูงสายส่งไฟฟ้า ระดับแรงดัน 115 -230 kV โดยไม่ดับกระแสไฟฟ้า โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)

5. ระบบยืนยันการอ่านมาตรวัดไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กฟน. กฟภ. และลูกค้าตรง โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (อสฟ.)

6. สารสนเทศติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้ารายวัน โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (อคฟ.)

7. “SMART GEOTECH” นวัตกรรมซอฟต์แวร์เพื่อการวิเคราะห์และประมวลผลงานวิศวกรรมชั้นดินฐานราก โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายสำรวจ (อสร.)

8. ระบบสูบน้ำอัตโนมัติแบบท่อร่วมระหว่าง Stage แบบอนุกรมต่างระดับ โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ (อผม.)

9. ยานสำรวจใต้น้ำ MCR Ver.3 โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.)

10. ชุดเครื่องมือติดตั้ง Nut Set ของ U-Bolt Suspension Clamp โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)

11. รถกระเช้าขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง โดยผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)

และรางวัลผู้กระทำความดี ระดับดีเยี่ยม ได้รับโล่รางวัลประดับสัญลักษณ์ม้าน้ำทองคำ มีจำนวน 2 รางวัล ได้แก่

1. ผลงาน “ทุ่งทานตะวัน กฟผ. ไทรน้อย” โดยนายศรชัย กิจวัฒนานุสนธิ์ ผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายปฏิบัติการเขตนครหลวง (อปล.)

2. ผลงาน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนใกล้แนวสายส่งบ้านโนนยาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด” โดยนายอติเทพ มวยมั่น ผู้ปฏิบัติงานสังกัดฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.)

          นายวีระวัฒน์ ชลายน ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และอดีตผู้ว่าการ กฟผ. ได้กล่าวมุทิตาจิตแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล และเชิญชวนให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า และมุ่งมั่นกระทำความดี เพื่อประโยชน์แก่ กฟผ. สังคม และประเทศชาติโดยรวมสืบไป

          มูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2537 โดยพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรี และอดีตผู้ว่าการ กฟผ. มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความคิดความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. บำรุงขวัญของผู้ปฏิบัติงานที่ประกอบความดี หรือส่งเสริมความคิด ความสามารถของผู้ที่ได้ทำประโยชน์ด้านวิชาการ และหรือปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของ กฟผ.

          ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับรางวัลของมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://kamthonfoundation.egat.co.th/home หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนกกิจกรรมสัมพันธ์ กองวินัยและกิจการสัมพันธ์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์การ (อทบ.) หมายเลขโทรศัพท์ 66338

ที่มา : EGAT Today

 

ทำถึง ! กฟผ. คว้า 3 รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ เวที JDIE 2024 ประเทศญี่ปุ่น ยกระดับประสิทธิภาพ

          นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความมุ่งมั่นให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. พัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภารกิจของ กฟผ. และยังเป็นการแสดงศักยภาพด้านการคิดค้นนวัตกรรมในเวทีระดับนานาชาติ จึงได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. จำนวน 2 ผลงาน เข้าร่วมการประกวดรางวัลสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติ “2024 Japan Design, Idea and Invention Expo” (JDIE 2024) ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2567 นำทีมโดยนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจบำรุงรักษา (ชธธ.) โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 3 รางวัล ได้แก่ Gold Medal จำนวน 2 รางวัล และ Special Award จาก Highly Innovative Unique Foundation (HIUF) ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1 รางวัล

          สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Gold Medal และรางวัล Special Award จาก Highly Innovative Unique Foundation (HIUF) ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คือผลงาน “ระบบบันทึกข้อมูลสัญญาณความผิดพร่องในระบบไฟฟ้าที่รองรับหน่วยวัดเฟสเซอร์ตามเวลาจริง” ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูลสัญญาณความผิดพร่องในระบบไฟฟ้า (EGAT-FRS) พัฒนาขึ้นทดแทนของเดิมในระบบที่ใช้งานมามากกว่า 30 ปี โดยได้เริ่มพัฒนาและนำเข้าใช้งานมาตั้งแต่ปี 2564 พร้อมยกระดับด้วยโมดูลหน่วยวัดเฟสเซอร์ตามเวลาจริงโดยใช้ Input เดียว ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน IEEE C37.118 มีสมรรถภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ อีกทั้งสามารถจ้างผลิตทำราคาได้ถูกกว่าของต่างประเทศถึงยูนิตละ 3 แสนบาท ปัจจุบันได้ติดตั้งในระบบไปแล้วทั้งสิ้น 22 ยูนิต

          อีกผลงานที่ได้รับรางวัล Gold Medal คือ ผลงาน “เครื่องมือถอดลูกสูบจากกระบอกสูบ สำหรับซ่อมบำรุง Hydraulic Cylinder Ram” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับถอด Piston ออกจาก Cylinder ในการ Overhaul Hydraulic Cylinder Ram เนื่องจากการส่งซ่อมกับหน่วยงานภายนอกมีค่าใช้จ่ายสูงและระยะเวลาการซ่อมที่ค่อนข้างนาน จึงได้มีการเริ่มซ่อมบำรุงภายในหน่วยงานโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในเวิร์คช็อป ร่วมกับการออกแบบให้มีความปลอดภัยและสะดวกต่อผู้ใช้งาน ภายใต้แนวคิด “ว่องไว มั่นใจ คุ้มค่า” ซึ่งช่วยลดระยะเวลาจากการส่งซ่อมในหน่วยงานภายนอกได้มากถึง 97% ลดค่าใช้จ่ายได้ 64% คิดเป็นเงิน 5,058,667 บาท ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ของหน่วยงาน ปัจจุบันได้มีการใช้งานภายในหน่วยงานบำรุงรักษาและรับซ่อมจากหน่วยงานโรงไฟฟ้าภายใน กฟผ.

          ทั้งนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าเยี่ยมชมบูทจัดแสดงผลงาน พร้อมให้กำลังใจนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย และ กฟผ. ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีดังกล่าวด้วย

ที่มา : EGAT Today

กฟผ. คว้า 3 รางวัลใหญ่ จากงาน INTARG 2024 สาธารณรัฐโปแลนด์

          นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งองค์การ พัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เพื่อเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อภารกิจของ กฟผ. และยังเป็นการแสดงศักยภาพด้านการคิดค้นนวัตกรรมในเวทีระดับนานาชาติ โดยระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2567 กฟผ. ได้ร่วมประกวดรางวัลสิ่งประดิษฐ์ในเวที “The 17th International Invention and Innovation Show : INTARG 2024” ณ MCK Katowice, International Congress Centre เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ด้วยผลงาน “เรือสำรวจพร้อมระบบเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้ออัตโนมัติ (สำหรับเก็บตัวอย่างน้ำทางจุลชีววิทยา)” โดยนางสินีนาฏ สุนทรหิรัญวงศ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับ 9 (วพ.9) และทีมนักประดิษฐ์ จากฝ่ายแพทย์และอนามัย (อพอ.) และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (อฟต.) โดยมี น.ส.พนา สุภาวกุล รองผู้ว่าการบริหาร (รวห.) เป็นหัวหน้าคณะฯ ยกทัพนักประดิษฐ์ คว้า 3 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วย 1. Platinum Award 2. รางวัลเหรียญทอง และ 3. รางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) NRCT Honorable Mention Award for the Excellent Invention

          นวัตกรรมเรือสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้อระบบอัตโนมัติ ใช้สำหรับเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ตามวิธีมาตรฐาน (เทคนิคปลอดเชื้อ) ติดตามและเฝ้าระวังโรคที่มีน้ำเป็นสื่อ และวางแผนลดผลกระทบจากกิจกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ

          ปัจจุบัน เรือสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำแบบปลอดเชื้อระบบอัตโนมัติฯ ใช้ในงานเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแบคทีเรียในงานสุขาภิบาลอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่มีผลต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยว วิเคราะห์แหล่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค รวมทั้งเป็นการเก็บข้อมูลผลประเมินด้านคุณภาพน้ำอ่างเก็บน้ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเรียกดูผลการตรวจและผลการประเมินคุณภาพน้ำตามเกณฑ์ของกรมควบคุมมลพิษในรูปของแผนที่อ่างเก็บน้ำในระบบ Water Quality Index Application ทาง Intranet นอกจากนี้ ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายขององค์การที่จากเดิมต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานลงเรือเก็บตัวอย่าง 3 คน มีค่าดำเนินการ 186,000 บาทต่อปี เปลี่ยนเป็นใช้ผู้ปฏิบัติงานเพียง 1 คน มีเงินค่าดำเนินการ 46,800 บาทต่อปี โดยค่าดำเนินการประกอบด้วยเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ลดลงร้อยละ 75

          นอกจากนี้ นายนัฐพงศ์ สุวรรณภักดี อุปทูต ผู้แทนเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ได้เข้าเยี่ยมชมผลงานและให้กำลังใจนักประดิษฐ์ไทยที่เข้าร่วมจัดแสดงผลงาน ในงาน “The 17th International Invention and Innovation Show” (INTARG 2024) ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ อีกด้วย

ที่มา : EGAT Today

กฟผ. คว้า 4 รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติเวที ITEX 2024 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

          กฟผ. นำทีมโดยฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) ยกทัพนักประดิษฐ์คว้า 4 รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานร่วมกับนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลกกว่า 700 ผลงาน จากกว่า 20 ประเทศ ในเวทีสำคัญระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวที “The 35th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งได้รับเกียรติจากเอกอัครราชฑูตไทยประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เข้าเยี่ยมชมบูธจัดแสดงนิทรรศการของ กฟผ. ด้วย

          ทั้งนี้ กฟผ. โดยได้ส่งผลงานการประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดผลงานที่คิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นประโยชน์แก่ กฟผ. ประจำปี 2566 จำนวน 3 ผลงาน เข้าร่วมประกวดในเวทีดังกล่าว โดยมี นายไวทยา  บุญญรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบดิจิทัล (อจท.) เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง ซึ่ง กฟผ. ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 4 รางวัล ดังนี้ รางวัล Silver Medal 2 รางวัล รางวัล Bronze Medal 1 รางวัล และรางวัลพิเศษจาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ประเทศไต้หวัน 1 รางวัล

          รางวัล Silver Medal และรางวัลพิเศษจาก WIIPA Special Award ประเทศไต้หวัน  จากผลงานแอพพลิเคชั่นค้นหาเบรกเกอร์อัจฉริยะ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 โดย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (อฟน.) และฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบดิจิทัล (อจท.)  เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีงานซ่อมบำรุงตลอดทั้งปี พนักงานเดินเครื่องจะต้องตัดแยกระบบไฟฟ้า (ปลดเบรกเกอร์) ก่อนเข้างานบำรุงรักษาแต่เนื่องจากในโรงไฟฟ้ามีเบรกเกอร์จำนวนมากซึ่งต้องมีการค้นหา ระบุตำแหน่งและมีความเสี่ยงจากการปลดเบรกเกอร์ผิดพลาด โดยแอพพลิเคชั่นค้นหาเบรกเกอร์อัจฉริยะสามารถทำให้ Operator สามารถระบุตำแหน่งเบรกเกอร์และลดเวลาการเข้าถึงเบรกเกอร์ได้อย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้อง ซึ่งทำให้เราสามารถประหยัดเวลาในการเข้าถึงเบรกเกอร์จนตัดแยกระบบไฟฟ้าสำเร็จเฉลี่ยน้อยลง 139 วินาที/ครั้งหรือคิดเป็น 69%  และช่วยให้งานซ่อมบำรุงแล้วเสร็จได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 6 ชั่วโมงคิดเป็นมูลค่าจากการคืนเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เร็วขึ้นกว่าแผนเป็นเงิน 1,309,459  บาท/start up/ครั้ง/Train

 

          รางวัล Silver Medal จากผลงานแพลตฟอร์มการประเมินสภาพเครื่องจักร และอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้า เพื่องานบำรุงรักษาอัจฉริยะแบบออนไลน์ โดยฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบดิจิทัล (อจท.)  เป็นแพลตฟอร์มการประเมินสภาพเครื่องจักร และอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้า เพื่องานบำรุงรักษาอัจฉริยะแบบออนไลน์ นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาสนับสนุนงานด้านการบำรุงรักษา และดูแลอุปกรณ์เครื่องจักรที่มีความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้า ด้วยการพัฒนา Web Application Platform บำรุงรักษา สำหรับดูแลอุปกรณ์ และเครื่องจักรในโรงไฟฟ้า ที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากโรงไฟฟ้า จากข้อมูลการเดินเครื่อง การทดสอบในช่วยงาน Shutdown มาร่วมกันวิเคราะห์สุขภาพได้แบบออนไลน์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Unplanned Outage ของโรงไฟฟ้า และยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการจัดซื้อ Platform จากภายนอก และขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าของประเทศไทย

          รางวัล Bronze Medal จากผลงานระบบตรวจจับเคลื่อนไหวสิ่งบุกรุกภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง โดย ฝ่ายปฏิบัติการเทคโนโลยีดิจิทัล (อปท.) และฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.) เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานด้านความปลอดภัยภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง เพื่อป้องกันและเข้าระงับเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบจ่ายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากสัตว์หรือบุคคลภายนอก โดยใช้เทคโนโลยี Image Processing ร่วมกับ AI ที่ระบบสามารถนำภาพวิดีโอจากกล้อง CCTV ที่มีใช้งานอยู่เดิมภายในสถานีเชื่อมต่อกับระบบทำการจำแนกวัตถุที่ต้องการตรวจจับได้ทันที พร้อมทั้งส่งการแจ้งเตือนข้อมูลล่าสุดผ่าน LINE Notify และแสดงผลข้อมูลผ่าน Web Application

ผู้รับผิดชอบข้อมูล : ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม

ผู้ดูแลเว็บไซต์ : ปิยะ โรจน์ฤทธิไกร

ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ชั้น 10 อาคาร  ท.103

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

004093
Today: 26
This Week: 76
This Month: 393
Total: 4,093