ภายใต้พันธกิจการดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ พวกเราชาวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงกระบวนการทำงาน สะท้อนถึงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความเป็นผู้นำในการดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยในงาน Powerex Asia 2024 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 16-18 ตุลาคม ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมแสดงศักยภาพด้านการพัฒนานวัตกรรม โชว์ 4 สุดยอดผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์การให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านภารกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
บล็อกขี้เถ้า สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุพลอยได้
ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง มีไอเดียนำมาซึ่งวัตถุพลอยได้ ทั้งเถ้าลอย เถ้าหนัก และยิปซัม นอกจาก กฟผ. จะจำหน่ายวัตถุพลอยได้เหล่านี้ให้กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างแล้ว ยังคงมีส่วนที่เหลือต้องกำจัดกว่า 60% ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อฟม.) จึงได้ดำเนินงานวิจัยนำของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ชื่อ “Unblocked” จัดตั้งโรงงานผลิตบล็อกก่อสร้างจากกากอุตสาหกรรมเถ้าหนัก ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 40,000 ก้อนต่อวัน นวัตกรรมนี้ช่วยลดต้นทุนการกำจัดกากอุตสาหกรรมจากเดิม 60 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียง 13 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 70 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี นับเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวที่มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นวัตกรรมติดตั้งตัวป้องกันฟ้าผ่าบนเสาส่งแบบไม่ดับไฟ
แนวสายส่งไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูง (สฟ.) แม่เมาะ 3 ไปยัง สฟ.เชียงใหม่ 3 ซึ่งมีภารกิจในการส่งจ่ายไฟฟ้ากว่า 400 เมกะวัตต์ เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างจังหวัดเชียงใหม่ แต่ในขณะเดียวกันแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าว มีสถิติการเกิดฟ้าผ่าเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ TLA หรือ Transmission Line Arrester ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันการเกิดแรงดันไฟฟ้าเกินแบบฉับพลัน (Overvoltage) เพื่อลดเหตุขัดข้องเนื่องจากฟ้าผ่า ทีมงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้า จากฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) ได้คิดค้นกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ TLA โดยไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้า ผ่านการพัฒนาอุปกรณ์ Rotation Support เพื่อใช้เป็นจุดหมุนรองรับการติดตั้ง TLA เพื่อเว้นระยะจากสายตัวนำไฟฟ้า (Conductor) ได้อย่างปลอดภัย และใช้ไม้ Hotstick ที่มีความเป็นฉนวน เพื่อติดตั้งเกราะหุ้มสาย (Armor Rod) พันที่สายตัวนำไฟฟ้า สำหรับป้องกันความเสียหายจากการทำงานของ TLA กระบวนการติดตั้งแบบใหม่นี้จะช่วยลดการเกิด Human Error จากวิธีการเดิมที่ต้องดับกระแสไฟฟ้าและปฏิบัติงานในช่วงที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยในช่วงกลางดึก ทำให้ระบบส่งไฟฟ้ามีความมั่นคงเชื่อถือได้อยู่ตลอดเวลา
อุปกรณ์รองรับโรเตอร์ ช่วยประหยัด ซ่อมไว จ่ายไฟรวดเร็ว
การบำรุงรักษาอุปกรณ์โรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Rotor) แต่เดิมจำเป็นต้องจัดสร้างอุปกรณ์รองรับโรเตอร์ขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะสมกับแต่ละโรงไฟฟ้าที่มีความแตกต่างทั้งด้านความสูงและระยะสำหรับการติดตั้ง ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) จึงได้คิดค้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์รองรับโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สามารถปรับระดับและเคลื่อนย้ายได้” โดยการนำรถเทรลเลอร์ที่ปรับระดับความสูงได้ของฝ่ายขนส่ง พร้อมกับออกแบบโครงสร้างสำหรับรองรับโรเตอร์ เพื่อวางไว้บนรถเทรลเลอร์ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถรองรับงานบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ทุกโรงไฟฟ้า นวัตกรรมนี้ช่วยลดต้นทุนในงานบำรุงรักษากว่า 88% และลดระยะเวลาในการบำรุงรักษาได้ถึง 4 วัน ทำให้พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบดั้งเดิม
หุ่นยนต์อัจฉริยะทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์
โครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาประจำโรงไฟฟ้า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (อค-บร.) สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ “Smart Floating PV Cleaning Bot” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมกับระบบฉีดน้ำและแปรงขัดทำความสะอาด ถูกออกแบบให้สามารถใช้น้ำจากถังพักน้ำขนาด 10 ลิตร หรือแบบต่อท่อน้ำตรงจากภายนอก สามารถควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชันบน Smart Phone พร้อมมีฟังก์ชันการใช้งานวิ่งไป–กลับแบบอัตโนมัติ โดยใช้ Sensor Detect ตำแหน่งการทำงาน เข้ามาช่วยทดแทนการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์แบบเดิมที่ต้องใช้คนถึง 8-10 คน ลดเหลือเพียง 2 คนเท่านั้น ทำให้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดได้ 50% นอกจากนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่ผู้ปฏิบัติงานอาจพลัดตกน้ำได้อีกด้วย
การพัฒนากระบวนการทำงานผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ ถือเป็นการวางรากฐานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง กฟผ. จึงมุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมพลังงานใหม่ พร้อมนำมาประยุกต์ใช้ เสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ภารกิจทั้งด้านผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า มีเสถียรภาพและความมั่นคงควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน
ที่มา : EGAT Today