เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 3 การไฟฟ้าจัดงานแสดงผลงานนวัตกรรม (Show and Share Innovation for the Better Life 2024) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้พัฒนาตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยมีนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ร่วมเปิดงานและมีนักประดิษฐ์จากทั้ง 3 การไฟฟ้า พร้อมทั้งหน่วยงานด้านนโยบายและกำกับดูแลกิจการด้านพลังงาน หน่วยงานด้านวิจัยของประเทศ นักธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชนที่สนใจ ร่วมงาน ณ ห้องวายุภักษ์ 2-4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของทั้ง 3 การไฟฟ้า จำนวน 46 ผลงาน ทั้งงานพัฒนาบำรุงรักษาธุรกิจไฟฟ้า งานด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและธุรกิจใหม่ และงานบริการ นอกจากนี้มีการเสวนายุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมจาก 3 ผู้ว่าการ ในหัวข้อ “นโยบายด้านนวัตกรรมในการขับเคลื่อนองค์กรของ 3 การไฟฟ้าในอนาคต” และการเสวนาโครงการความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้า ในหัวข้อ “การให้บริการพลังงานไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff (UGT)” รวมถึงการบรรยายวิชาการของแต่ละองค์กรอีก 30 ผลงาน
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและนำนวัตกรรมมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจและผลักดันการใช้ให้เกิดประโยชน์ภายใต้หลักธรรมาภิบาล มาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ PEA เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดย PEA วางทิศทางยุทธศาสตร์ด้านการจัดการนวัตกรรม ปี 2567–2569 เป็นองค์กรนวัตกรรมด้านดิจิทัลและพลังงานสะอาด (Digital and Green Energy Innovation) ปี 2570–2575 เป็นองค์กรนวัตกรรมด้านระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Innovation) และปี 2576–2580 เป็นองค์กรนวัตกรรมที่เติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Innovation Organization) นอกจากนี้ PEA มีแผนงานโครงการรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น AMI Microgrid (แม่สะเรียง เกาะพะลวย เบตง เกาะสมุย) Minigrid (แม่ฮ่องสอน) PEA ติดตั้ง Charging Station มากกว่า 400 สถานี ครอบคลุม 75 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BESS) แก้ไขปัญหาคุณภาพไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้ากรณีไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็ว สำหรับงานด้านบริการ PEA มีเว็บไซต์ www.peashopping.com และผลิตภัณฑ์ PUPAPUMP เครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบ AC ขนาด 7.2 kW ที่จะวางจำหน่ายเดือนมกราคม 2568
สำหรับผลงานที่ PEA ร่วมแสดงผลงานมีจำนวน 15 ผลงาน อาทิ เครื่องมือจำลองการติดตั้ง Solar PV Rooftop และจำลองการติดตั้งมิเตอร์ TOU ที่สามารถทดลองเลือกขนาดกำลังการติดตั้งเสมือนจริง จำลองบิลค่าไฟฟ้าอัตรา TOU สำหรับลูกค้าที่สนใจขอติดตั้งมิเตอร์เพื่อชาร์จรถยนต์ EV โปรแกรมต้นแบบเพื่อค้นหาพื้นที่ติดตั้งแผง Solar Rooftop จากภาพถ่ายดาวเทียม GIS เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบจำหน่าย เป็นต้น
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ “นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ซึ่ง กฟผ. มียุทธศาสตร์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่สอดคล้องกับนโยบายแผนพลังงานชาติที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้หลักการดำเนินงานที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยผลักดันการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทั้งไฮโดรเจนและการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การสนับสนุน EV Ecosystem มีการพัฒนา Application EleXA โดยมีนโยบายจัดการความรู้และนวัตกรรม ส่งมอบประสบการณ์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าแก่บุคลากรในองค์การและพันธมิตร
สำหรับนวัตกรรมโดดเด่นของ กฟผ. ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีจำนวน 15 ผลงาน อาทิ ผลงานระบบบริหารจัดการพลังงาน (ENZY) ที่สามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงานในพื้นที่แบบเรียลไทม์ ควบคุมสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ และสรุปยอดการใช้พลังงานไฟฟ้ารายเดือนเพื่อใช้ในการวิเคราะห์วางแผนการใช้พลังงาน ช่วยให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสามารถบริหารจัดการพลังงานและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ผลงานการตรวจสายส่งไฟฟ้า 500 kV โดยใช้เทคโนโลยี Ultraviolet (Corona) Inspection ซึ่งเป็นการใช้กล้อง Corona ตรวจสภาพอุปกรณ์เสาส่งไฟฟ้าป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า ช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ รวมถึงผลงาน Lineman Lift โดยใช้สำหรับงานตรวจสอบและงานซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ช่างสาย และช่วยขนย้ายเครื่องมืออุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงในการขึ้นลงที่สูง เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จึงใช้เวลาแก้ไขได้รวดเร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ได้ดำเนินนโยบายตามวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ได้วางยุทธศาสตร์การจัดการนวัตกรรม 3 ด้าน คือ 1) การวางโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม 2) การเสริมสร้างวัฒนธรรมและทักษะด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม 3) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความยั่งยืนขององค์กร โดยผลงานที่ MEA นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการผลิตภัณฑ์จานรองแก้วซึมน้ำจากวัสดุผงเซรามิกแปรสภาพของขยะลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ระบบงานบริการภาคสนาม Field Force Management (FFM) ระบบรับเรื่องขอเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออนไลน์ผ่านโครงการ MyEnergy เครื่องมือประกอบรถกระเช้าเพื่อติดตั้งโคมไฟฟ้าสาธารณะบนเสาไฟฟ้า “Jib-Joint Jib-Boom” อุปกรณ์ป้องกันงูบนเสาไฟฟ้า นวัตกรรมเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงแบบมีการเสริมแรง นวัตกรรมคอนเหล็กเคลือบฉนวนพีอี เทคโนโลยีแจ้งเตือนไฟดับ นวัตกรรม Rack ในงานพาดสายไฟฟ้าแรงต่ำ อุปกรณ์ตรวจจับการปล่อยประจุบางส่วนในสวิตช์เกียร์ฉนวนก๊าซ “UHF Sensor” ระบบจ่ายไฟกลับอัตโนมัติ “Smart Energy” เทคนิคอุดกันซึมสำหรับท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน “อุดสนิท พิชิตน้ำไหล” เทคนิคลดเวลาการซ่อมแซมสายไฟฟ้าใต้ดินชำรุด “Intersection Method” และนวัตกรรมตรวจสอบเสาเอียง
3 การไฟฟ้ามุ่งส่งเสริมงานวิจัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน พร้อมขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ให้การผลิต จัดหา และส่งจ่ายไฟฟ้าของประเทศมีคุณภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน
ที่มา : EGAT Today