เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและศักยภาพต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์วงกว้าง
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงาน เสร็จแล้วพระราชทานพระวโรกาสฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานในระบบวิจัย รวมทั้งผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลและเกียรติบัตร ซึ่งนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.)เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมรับเสด็จฯ ณ ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แล้วจึงเสด็จฯ ไปยังห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ทรงวางพระหัตถ์บนแท่นอะคริลิกเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024)
ผลงานนวัตกรรมที่ กฟผ. นำมาร่วมจัดแสดงภายในปีนี้มีจำนวน 4 ผลงาน ได้แก่
1) การศึกษาการใช้ Slag Deposition Sensor ทดแทน Heat Flux Sensor ของ MM-T14 เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาเซ็นเซอร์และระบบซอฟต์แวร์ เพื่อระบุตำแหน่งการสะสมตัวของตะกรันบริเวณผนังหม้อไอน้ำ (Boiler Wall Tube) และควบคุมการฉีดน้ำล้างตะกรันแบบอัตโนมัติให้แม่นยำมากขึ้น โดยไม่กระทบกับพารามิเตอร์การเผาไหม้ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อรม.) และฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (อฟม.)
2) Lineman Lift เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดเวลาและแรงในการปีนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง สำหรับงานบำรุงรักษาที่ต้องมีการปีนขึ้น-ลงที่สูงหลายรอบ ซึ่งสามารถยกคนหรืออุปกรณ์ขึ้นเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับ 70 เมตรได้ภายใน 3 นาที ควบคุมได้ด้วยรีโมตระยะไกล เป็นผลงานของฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.)
3) การพัฒนากระบวนการตัดสาย Conductor เพื่อแขวนลูกถ้วย Break loop 230kV 4 bundle โดยไม่นำสาย Conductor ลงพื้น เป็นการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่อลดระยะเวลาการทำงาน ด้วยการใช้กระเช้าประดิษฐ์ช่วยในการทำงานหลายจุดพร้อมกัน โดยไม่ต้องปลดสายส่งไฟฟ้าลงพื้นดิน ช่วยลดระยะเวลาการดับไฟฟ้า เป็นผลงานของฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.)
4) หุ่นยนต์จัดยา เป็นการพัฒนาหุ่นยนต์จัดยาต้นแบบของไทยในรูปแบบ Modular System ที่สามารถปรับฟังก์ชันได้ตามความต้องการใช้งานสำหรับสถานพยาบาล ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการจัดและจ่ายยา ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างฝ่ายแพทย์และอนามัย (อพอ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ส่งผลงาน Lineman Lift ของ อปอ. เข้าร่วมประกวดในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo Award 2024) และคว้ารางวัลชมเชย และเงินรางวัล 20,000 บาท โดยมีนายทวีศักดิ์ ศิริสืบ หัวหน้ากองวิจัยและนวัตกรรมธุรกิจใหม่ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) เป็นผู้แทน กฟผ. รับมอบรางวัลและเกียรติบัตรจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช.