กฟผ. นำทีมโดยฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม (อวน.) ยกทัพนักประดิษฐ์คว้า 4 รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานร่วมกับนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลกกว่า 700 ผลงาน จากกว่า 20 ประเทศ ในเวทีสำคัญระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวที “The 35th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งได้รับเกียรติจากเอกอัครราชฑูตไทยประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เข้าเยี่ยมชมบูธจัดแสดงนิทรรศการของ กฟผ. ด้วย
ทั้งนี้ กฟผ. โดยได้ส่งผลงานการประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดผลงานที่คิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นประโยชน์แก่ กฟผ. ประจำปี 2566 จำนวน 3 ผลงาน เข้าร่วมประกวดในเวทีดังกล่าว โดยมี นายไวทยา บุญญรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบดิจิทัล (อจท.) เป็นหัวหน้าคณะเดินทาง ซึ่ง กฟผ. ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 4 รางวัล ดังนี้ รางวัล Silver Medal 2 รางวัล รางวัล Bronze Medal 1 รางวัล และรางวัลพิเศษจาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ประเทศไต้หวัน 1 รางวัล
รางวัล Silver Medal และรางวัลพิเศษจาก WIIPA Special Award ประเทศไต้หวัน จากผลงานแอพพลิเคชั่นค้นหาเบรกเกอร์อัจฉริยะ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 โดย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (อฟน.) และฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบดิจิทัล (อจท.) เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีงานซ่อมบำรุงตลอดทั้งปี พนักงานเดินเครื่องจะต้องตัดแยกระบบไฟฟ้า (ปลดเบรกเกอร์) ก่อนเข้างานบำรุงรักษาแต่เนื่องจากในโรงไฟฟ้ามีเบรกเกอร์จำนวนมากซึ่งต้องมีการค้นหา ระบุตำแหน่งและมีความเสี่ยงจากการปลดเบรกเกอร์ผิดพลาด โดยแอพพลิเคชั่นค้นหาเบรกเกอร์อัจฉริยะสามารถทำให้ Operator สามารถระบุตำแหน่งเบรกเกอร์และลดเวลาการเข้าถึงเบรกเกอร์ได้อย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้อง ซึ่งทำให้เราสามารถประหยัดเวลาในการเข้าถึงเบรกเกอร์จนตัดแยกระบบไฟฟ้าสำเร็จเฉลี่ยน้อยลง 139 วินาที/ครั้งหรือคิดเป็น 69% และช่วยให้งานซ่อมบำรุงแล้วเสร็จได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 6 ชั่วโมงคิดเป็นมูลค่าจากการคืนเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เร็วขึ้นกว่าแผนเป็นเงิน 1,309,459 บาท/start up/ครั้ง/Train
รางวัล Silver Medal จากผลงานแพลตฟอร์มการประเมินสภาพเครื่องจักร และอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้า เพื่องานบำรุงรักษาอัจฉริยะแบบออนไลน์ โดยฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) และฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบดิจิทัล (อจท.) เป็นแพลตฟอร์มการประเมินสภาพเครื่องจักร และอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้า เพื่องานบำรุงรักษาอัจฉริยะแบบออนไลน์ นำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาสนับสนุนงานด้านการบำรุงรักษา และดูแลอุปกรณ์เครื่องจักรที่มีความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้า ด้วยการพัฒนา Web Application Platform บำรุงรักษา สำหรับดูแลอุปกรณ์ และเครื่องจักรในโรงไฟฟ้า ที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากโรงไฟฟ้า จากข้อมูลการเดินเครื่อง การทดสอบในช่วยงาน Shutdown มาร่วมกันวิเคราะห์สุขภาพได้แบบออนไลน์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Unplanned Outage ของโรงไฟฟ้า และยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการจัดซื้อ Platform จากภายนอก และขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าของประเทศไทย
รางวัล Bronze Medal จากผลงานระบบตรวจจับเคลื่อนไหวสิ่งบุกรุกภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง โดย ฝ่ายปฏิบัติการเทคโนโลยีดิจิทัล (อปท.) และฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.) เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานด้านความปลอดภัยภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง เพื่อป้องกันและเข้าระงับเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบจ่ายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากสัตว์หรือบุคคลภายนอก โดยใช้เทคโนโลยี Image Processing ร่วมกับ AI ที่ระบบสามารถนำภาพวิดีโอจากกล้อง CCTV ที่มีใช้งานอยู่เดิมภายในสถานีเชื่อมต่อกับระบบทำการจำแนกวัตถุที่ต้องการตรวจจับได้ทันที พร้อมทั้งส่งการแจ้งเตือนข้อมูลล่าสุดผ่าน LINE Notify และแสดงผลข้อมูลผ่าน Web Application