ข่าวประชาสัมพันธ์

ทำถึง ! กฟผ. คว้า 3 รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ เวที JDIE 2024 ประเทศญี่ปุ่น ยกระดับประสิทธิภาพ

          นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (รวย.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความมุ่งมั่นให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. พัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภารกิจของ กฟผ. และยังเป็นการแสดงศักยภาพด้านการคิดค้นนวัตกรรมในเวทีระดับนานาชาติ จึงได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. จำนวน 2 ผลงาน เข้าร่วมการประกวดรางวัลสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติ “2024 Japan Design, Idea and Invention Expo” (JDIE 2024) ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2567 นำทีมโดยนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจบำรุงรักษา (ชธธ.) โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 3 รางวัล ได้แก่ Gold Medal จำนวน 2 รางวัล และ Special Award จาก Highly Innovative Unique Foundation (HIUF) ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1 รางวัล

          สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล Gold Medal และรางวัล Special Award จาก Highly Innovative Unique Foundation (HIUF) ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คือผลงาน “ระบบบันทึกข้อมูลสัญญาณความผิดพร่องในระบบไฟฟ้าที่รองรับหน่วยวัดเฟสเซอร์ตามเวลาจริง” ซึ่งเป็นระบบบันทึกข้อมูลสัญญาณความผิดพร่องในระบบไฟฟ้า (EGAT-FRS) พัฒนาขึ้นทดแทนของเดิมในระบบที่ใช้งานมามากกว่า 30 ปี โดยได้เริ่มพัฒนาและนำเข้าใช้งานมาตั้งแต่ปี 2564 พร้อมยกระดับด้วยโมดูลหน่วยวัดเฟสเซอร์ตามเวลาจริงโดยใช้ Input เดียว ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน IEEE C37.118 มีสมรรถภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ อีกทั้งสามารถจ้างผลิตทำราคาได้ถูกกว่าของต่างประเทศถึงยูนิตละ 3 แสนบาท ปัจจุบันได้ติดตั้งในระบบไปแล้วทั้งสิ้น 22 ยูนิต

          อีกผลงานที่ได้รับรางวัล Gold Medal คือ ผลงาน “เครื่องมือถอดลูกสูบจากกระบอกสูบ สำหรับซ่อมบำรุง Hydraulic Cylinder Ram” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับถอด Piston ออกจาก Cylinder ในการ Overhaul Hydraulic Cylinder Ram เนื่องจากการส่งซ่อมกับหน่วยงานภายนอกมีค่าใช้จ่ายสูงและระยะเวลาการซ่อมที่ค่อนข้างนาน จึงได้มีการเริ่มซ่อมบำรุงภายในหน่วยงานโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในเวิร์คช็อป ร่วมกับการออกแบบให้มีความปลอดภัยและสะดวกต่อผู้ใช้งาน ภายใต้แนวคิด “ว่องไว มั่นใจ คุ้มค่า” ซึ่งช่วยลดระยะเวลาจากการส่งซ่อมในหน่วยงานภายนอกได้มากถึง 97% ลดค่าใช้จ่ายได้ 64% คิดเป็นเงิน 5,058,667 บาท ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ของหน่วยงาน ปัจจุบันได้มีการใช้งานภายในหน่วยงานบำรุงรักษาและรับซ่อมจากหน่วยงานโรงไฟฟ้าภายใน กฟผ.

          ทั้งนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าเยี่ยมชมบูทจัดแสดงผลงาน พร้อมให้กำลังใจนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย และ กฟผ. ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีดังกล่าวด้วย

ที่มา : EGAT Today

ผู้รับผิดชอบข้อมูล : ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม

ผู้ดูแลเว็บไซต์ : ปิยะ โรจน์ฤทธิไกร

ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ชั้น 10 อาคาร  ท.103

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

004095
Today: 1
This Week: 78
This Month: 395
Total: 4,095